Arch Linux (ไทย)
Arch Linux คือลีนุกซ์ที่ถูกพัฒนาอย่างอิสระสำหรับระบบ i686/x86-64 ที่เน้นด้านการให้ซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นเสถียรรุ่นใหม่ล่าสุดและมีการอัพเดตระบบอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา (rolling-release) ระบบหลังติดตั้งเป็นเพียงระบบพื้นฐานที่สุด ซึ่งผู้ใช้ต้องปรับแต่งและเพิ่มส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตัวเอง
หลักการ
เรียบง่าย
Arch Linux ให้นิยามความเรียบง่ายว่า ไม่มีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขที่ไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ซอฟท์แวร์ส่วนใหญ่จึงเหมือนต้นฉบับที่ผู้พัฒนาเขียนเอาไว้ (ที่ upstream) และมีการแก้ไขให้เข้ากับดิสทริบิวชั่น (downstream) อย่างน้อยที่สุด โดยปกติ patch ที่ไม่ถูกนำไปใช้ในฝั่ง upstream ก็จะไม่ถูกนำมาใช้ใน Arch
ในลักษณะเดียวกัน ไฟล์สำหรับตั้งค่าต่าง ๆ ใน Arch ก็ยังคงเนื้อหาเกือบเหมือนต้นฉบับทุกอย่าง เว้นแต่การแก้ไขบางประการ เช่น system file path ที่อาจถูกปรับแต่งให้เข้ากับดิสทริบิวชั่น Arch จะไม่เปิดใช้ service โดยอัตโนมัติเมื่อคุณติดตั้งแพคเกจ และจะแยกแพคเกจออกเป็นแพคเกจย่อยก็ต่อเมื่อมีประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน (เช่นสามารถลดความสิ้นเปลืองในการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลได้อย่างมาก) Arch จะไม่ติดตั้งเครื่องมือการตั้งค่าแบบ GUI ให้ เพราะเราสนับสนุนการดูแลระบบผ่าน shell และ text editor ธรรมดามากกว่า
ทันสมัย
Arch Linux เน้นการให้บริการซอฟท์แวร์รุ่นเสถียรที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตราบใดที่ไม่ทำให้แพคเกจต่าง ๆ เกิดความขัดแย้งกัน การอัพเกรด Arch จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามโมเดล rolling-release ดังนั้นคุณจึงต้องติดตั้งระบบเพียงแค่ครั้งเดียว จากนั้นก็อัพเกรดเป็นเวอร์ชั่นใหม่ได้ตลอดเวลา
Arch มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ สำหรับผู้ใช้ GNU/Linux ไม่ว่าจะเป็นระบบ init systemd, ระบบไฟล์สมัยใหม่ (Ext2/3/4, Reiser, XFS, JFS, BTRFS), LVM2, software RAID, udev support และ initcpio (ด้วย mkinitcpio) รวมทั้งเคอร์เนลเวอร์ชั่นล่าสุดด้วย
เน้นการปฏิบัติ
Arch เป็นดิสทริบิวชั่นที่เน้นการใช้งานจริงมากกว่าอุดมคติ ดังนั้นหลักการจึงเป็นเพียงแนวทางคร่าว ๆ เพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับการตกลงของนักพัฒนาเป็นกรณีไป เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์และการถกเถียงเพื่อหาคำตอบมากกว่าการเมืองหรือความเชื่อ
แพคเกจและสคริปต์ที่อยู่ในคลังแพคเกจของ Arch Linux คือช่องทางสำหรับให้บริการซอฟต์แวร์แบบฟรีและโอเพนซอร์สสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการใช้ซอฟท์แวร์แบบนี้ แต่เราก็มีแพคเกจที่ไม่ใช่โอเพนซอร์สสำหรับผู้ใช้ที่ ขอให้ใช้งานได้ก็พออย่างอื่นไม่สน ด้วย
ตอบสนองผู้ใช้
ดิสทริบิวชั่น GNU/Linux ส่วนใหญ่พยายามเน้นความ ง่ายต่อการใช้งาน แต่ Arch Linux เน้นที่การ ตอบสนองผู้ใช้งาน เสมอมาและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะเราคิดว่าดิสทริบิวชั่นควรตอบโจทย์ความต้องการของคนที่ร่วมพัฒนาและใช้มัน แทนที่จะรองรับความต้องการของผู้ใช้จำนวนมากที่สุด ดิสทริบิวชั่นของเรามุ่งเป้าไปที่คนที่ใช้ GNU/Linux เป็นอยู่แล้ว หรือคนที่พร้อมจะลงมือทดลองทำและอ่านคู่มือการใช้งานเพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
เราสนับสนุนให้ผู้ใช้ทุกคน เข้าร่วม และช่วยพัฒนาดิสทริบิวชั่น ไม่ว่าจะเป็นการรายงานและช่วยกันแก้ บั๊ก ซึ่งจะช่วยทำให้แพคเกจและ โปรเจคต่าง ๆ ดีขึ้น: นักพัฒนา Arch ประกอบไปด้วยอาสาสมัคร และคนที่มีส่วนร่วมสม่ำเสมอ (ที่เราเรียกว่า Archers) จะได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของทีม โดย Archers เหล่านี้สามารถเพิ่มแพคเกจเข้าไปใน Arch User Repository, ช่วยเขียน ArchWiki, ช่วยตอบคำถามทางเทคนิคหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน กระดานสนทนา, จดหมายข่าว, หรือ ช่อง IRC Arch Linux คือระบบปฏิบัติการที่ถูกเลือกใช้โดยคนจากทั่วโลก จึงมี ชุมชนนานาชาติ ที่พร้อมช่วยเหลือและเขียนเอกสารในหลายภาษาด้วยกัน
อเนกประสงค์
Arch Linux คือดิสทริบิวชั่นอเนกประสงค์ หลังการติดตั้งคุณจะมีแค่สภาพแวดล้อมแบบ command-line: เราให้ผู้ใช้ตั้งค่าระบบและติดตั้งส่วนต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แทนที่จะต้องไล่ลบแพคเกจที่ไม่ต้องการออก โดยผู้ใช้สามารถเลือกติดตั้งได้จาก คลังแพคเกจหลัก ซึ่งมีทั้งแพคเกจสำหรับสถาปัตยกรรม i686 และ x86-64
Arch มี pacman เป็นโปรแกรมจัดการแพคเกจที่เรียบง่ายและทำงานได้รวดเร็ว และทำให้คุณสามารถอัพเกรดระบบได้โดยใช้แค่คำสั่งเดียว และก็มี Arch Build System ซึ่งเป็นระบบคล้าย ๆ ports ที่ช่วยให้คุณติดตั้งแพคเกจได้จากซอร์สโค้ด (โดยใช้แค่คำสั่งเดียวเหมือนกัน) นอกจากนั้น Arch ยังมี Arch User Repository ซึ่งเป็นคลังเก็บสคริปต์ PKGBUILD หลายพันสคริปต์ที่ถูกใช้โดยโปรแกรม makepkg เพื่อคอมไพล์และติดตั้งแพคเกจต่าง ๆ โดยคลังเก็บสคริปต์นี้ถูกดูแลโดยชุมชนผู้ใช้
ประวัติ
ยุคบุกเบิก
Judd Vinet โปรแกรมเมอร์ชาวแคนาดาและมือกีตาร์สมัครเล่นเริ่มพัฒนา Arch Linux ในช่วงต้นปี 2001 และออกเวอร์ชั่นแรก หรือ Arch Linux 0.1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2002 Vinet ชื่นชอบความเรียบง่ายและความประณีตของ Slackware, BSD, PLD Linux, และ CRUX แต่รู้สึกผิดหวังที่ตอนนั้นไม่มีระบบจัดการแพคเกจที่ดีพอ เขาจึงสร้างดิสทริบิวชั่นของตัวเองที่ยึดหลักการคล้ายกับดิสทริบิวชั่นเหล่านั้น และเขียนโปรแกรม pacman เพื่อติดตั้ง ลบ และอัพเกรดแพคเกจต่าง ๆ
ยุคกลาง
ชุมชน Arch เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เห็นใน สถิติจำนวนโพสต์ในกระดานข่าว, จำนวนผู้ใช้, และรายงานบั๊ก นอกจากนั้น Arch ยังขึ้นชื่อมาตั้งแต่ต้นในด้าน ชุมชนผู้ใช้ที่เปิดกว้าง เป็นมิตร และพร้อมช่วยเหลือ
เริ่มต้นยุคสมัยของ A. Griffin
ช่วงปลายปี 2007 Judd Vinet วางมือจากการเป็นนักพัฒนาหลักของ Arch และ ส่งไม้ต่อให้โปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกันชื่อ Aaron Griffin, หรือที่มีนามแฝงว่า Phrakture, ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักของ Arch มาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชุมชนของ Arch เติบโตอย่างก้าวกระโดด และได้รับ ความสนใจและรีวิว เพิ่มขึ้นอย่างมากมายสำหรับดิสทริบิวชั่นที่ขนาดไม่ใหญ่มากนี้
ปัจจุบันนักพัฒนา Arch ก็ยังคงเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ และก็ทำโปรเจคนี้ในเวลาส่วนตัว และก็ไม่คิดที่จะทำ Arch ในเชิงการค้าด้วย ดังนั้น Arch จึงเป็นดิสทริบิวชั่นที่ฟรีทั้งด้านราคาและอิสรภาพ สำหรับคนที่สนใจประวัติการพัฒนาของ Arch ลองแวะไปดูที่ Arch ใน Internet Archive Wayback Machine และ the จดหมายเหตุข่าวคราวของ Arch Linux